Regulatory Sandbox

  • 17 สิงหาคม 2565
  • 1287

Regulatory Sandbox

เมื่อพูดถึงกระบะทรายหรือ Sandbox หลายคนคงนึกถึงกระบะไม้บรรจุด้วยทรายละเอียด สำหรับเด็กๆ เอาไว้เล่นทรายปั้นโน่นปั้นนี่ไปตามจินตนาการ แต่ Sandbox ในปัจจุบันสามารถนิยามได้มากกว่าเม็ดทรายและจินตนาการ โดยความหมายของ Sandbox ในโลกของนักเล่นเกมก็คือพื้นที่ที่ถูกออกแบบให้ผู้เล่นสามารถใช้จินตนาการของตัวเองในการกำหนดรูปแบบของการเล่นโดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎกติกาหรือวัตถุประสงค์ของเกม ตัวอย่างของเกมที่มีลักษณะคล้าย Sandbox ก็คือ Grand Theft Auto และ Garry’s Mod สำหรับรูปแบบของเกม Grand Theft Auto นั้นจะมีตัวหลักของเกมอยู่สามคน คือ Michael, Franklin และ Trevor โดยผู้เล่นสามารถเปลี่ยนเป็นตัวละคร 3 ตัวนี้ได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ แล้วแต่สถานการณ์จะกำหนด โดยรูปแบบของเกมจะมีเมืองจำลองโดยคนในเมืองจะทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตัวเองต้องการ ตัวละครทั้งสามคนจะมีความถนัดพิเศษนั่นก็คือการโจรกรรม โดยรูปแบบการโจรกรรมแต่ละครั้งผู้เล่นจะต้องวางแผนเองว่าจะใช้วิธีแบบไหนซึ่งผลที่ตามมาจากแต่ละวิธี ก็จะแตกต่างกันไป สำหรับเกม Garry’s Mod นั้น เป็นการประยุกต์เกม Half-life 2 และ Counter Strike Source เข้าด้วยกันโดยเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถเอาโมเดล สิ่งปลูกสร้าง NPC[1] ตัวละครต่างๆ ในเกมซึ่งมีทั้งมิตรและศัตรูมาประยุกต์เข้าด้วยกัน ทั้งสร้าง จัดทำ หรือทำการใดๆ ได้อย่างอิสระ เกมนี้จึงเป็นเกมที่ผู้เล่นไม่มีเป้าหมายเพราะมันไม่ได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้นั่นเอง เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

ส่วนอีกคำหนึ่งที่ไม่น่าจะสามารถโยงเข้ากับคำว่า Sandbox ได้ นั่นก็คือคำว่า Regulation เมื่อพูดถึง Sandbox เราจะเห็นถึงอิสรภาพไร้ขีดจำกัด จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์แต่พอมาพ่วงเข้ากับคำว่า Regulation ทำให้ความหมายของ Sandbox สะดุดไปทันที Regulation หมายถึงกฎข้อบังคับ หรือกฎระเบียบ เมื่อรวมสองคำเข้าด้วยกันเป็น Regulatory Sandbox ก็คือการกำกับดูแลภายในขอบเขตที่กำหนดเฉพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลที่สามหรือผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยเป็นการยืมคำมาจากศัพท์คอมพิวเตอร์ที่นิยาม Regulatory Sandbox ไว้ว่ากลไกในการกำกับดูแลที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถนำมาใช้ในเชิงธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วยในตัว เช่น การให้บริการนวัตกรรมทางการเงิน (Fintech)

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่นำนโยบาย Regulatory Sandbox มาใช้ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย ความเป็นมาของการกำกับดูแลในรูปแบบ Regulatory Sandbox เริ่มต้นในปี ค.ศ. 2015 ที่ประเทศอังกฤษ โดยโครงการแรกที่ประสบความสำเร็จในการกำกับรูปแบบนี้คือโครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ซึ่งได้รับการอนุมัติในปี ค.ศ. 2016 โดยภาครัฐกำหนดให้บริษัทหรือหน่วยงานทางการเงินที่ประสงค์จะพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินจะต้องขออนุญาตที่หน่วยงาน Financial Conduct Authority (FCA) โดยหน่วยงานนี้จะอนุมัติให้บริษัทสามารถทดสอบรูปแบบการให้บริการทางการเงินในของเขตที่กำหนด (Sandbox) ซึ่งบริษัทสามารถนำเทคโนโลยีทางการเงินนี้ไปใช้กับผู้ใช้บริการได้จริงภายใต้ข้อกำหนดที่กำหนดไว้ รวมทั้งต้องมีการรายงานผลกลับมายัง FCA เป็นระยะๆ และภายหลังถ้าบริษัทมั่นใจว่าโครงการที่ตัวเองสร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ได้จริงและต้องการที่จะนำเทคโนโลยีทางการเงินไปใช้ในทางการค้าอย่างสมบูรณ์แบบก็สามารถยื่นเรื่องมาที่ FCA โดยจะต้องผ่านการทดสอบตามเงื่อนไขที่ FCA กำหนด

สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลทางด้านการเงินอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เริ่มนำ Regulatory Sandbox มาประยุกต์ใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 โดยวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้สถาบันทางการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการให้บริการทางการเงินซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้บริการที่ต่ำลง ทั้งนี้ รูปแบบ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำเสนอบริการทางการเงินแก่ผู้ใช้บริการได้จริง ภายในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจและการให้บริการที่จำกัด ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีความยืดหยุ่น โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วมทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ไว้ 3 ประการคือ 1. ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน 2. มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ 3. ดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อส่งเสริมให้ Fintech ของไทยมีการพัฒนาและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันการกำกับดูแลภายใต้นโยบาย Regulatory Sandbox จะมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแลนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ภายใต้กรอบและบริบทที่หน่วยงานของรัฐและบริษัทเป็นผู้กำหนดร่วมกัน ผ่านการตรวจสอบโดยพารามิเตอร์ต่างๆ อย่างไรก็ดี ถ้ามองไปถึงบทบาทในการกำกับดูแลในภาคส่วนอื่นๆ อาทิ การกำกับดูแลในส่วนของกิจการโทรคมนาคม การนำ Regulatory Sandbox มาประยุกต์ใช้สามารถสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมได้เช่นกัน เช่น การนำ Regulatory Sandbox มาประยุกต์ใช้กับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตลาดค้าปลีกของประเทศไทย ปัจจุบันหลักเกณฑ์การกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่นำมาใช้คือการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโดยใช้อัตราขั้นสูง และการใช้อัตราค่าบริการเฉลี่ยหรือเรียกง่ายๆ ว่าอัตราอ้างอิง ซึ่งถือเป็นการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่มุ่งเน้นไปที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการ และการคุ้มครองสิทธิในการใช้งานของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ในขณะที่ประสิทธิภาพในการผลิตหรือการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของผู้ให้บริการอาจไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการกำกับดูแลโดยวิธีนี้ นอกเหนือไปจากการกำกับดูแลโดยวิธีที่กล่าวถึงข้างต้นแล้วการกำกับดูแลอีกวิธีที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคม (Social Welfare) โดยมุ่งหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนก็คือการกำกับดูแลโดยใช้วิธีเพดานราคา (Price Cap Regulation) โดยการกำกับดูแลโดยวิธีนี้จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของผู้ให้บริการเป็นสำคัญ โดยผู้กำกับดูแลจะคำนวณหาค่าประสิทธิภาพในการผลิตโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรม และจะประกาศค่าประสิทธิภาพดังกล่าวทุกปี โดยค่าประสิทธิภาพนี้จะมีส่วนในการกำหนดราคาของผู้ให้บริการ ถ้าผู้ให้บริการรายใดสามารถผลิตหรือให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าค่าประสิทธิภาพที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดก็สามารถกำหนดราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่งและมีส่วนต่างผลกำไรได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีข้อจำกัดของวิธีการนี้ก็คือราคาที่ผู้ให้บริการกำหนดนอกจากขึ้นกับค่าประสิทธิภาพแล้วยังแปรผันไปตามอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี นั่นก็คือราคาที่ให้บริการสามารถปรับเปลี่ยนขึ้นลงได้ตามอัตราเงินเฟ้อและค่าประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งถือเป็นพารามิเตอร์ที่มีความอ่อนไหวสูง ดังนั้นการประยุกต์ Regulatory Sandbox มาใช้ในการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโดยวิธีนี้จะสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำหนดราคาของผู้ให้บริการ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ รวมทั้งผลักดันให้ผู้ให้บริการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อสร้างความได้เปรียบในการกำหนดราคา โดยหน่วยงานกำกับดูแลต้องทำความตกลงร่วมกันกับผู้ให้บริการถึงรูปแบบในการกำกับดูแล กำหนดค่าตัวแปรที่จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อชี้วัดการดำเนินการ ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะทำการกำกับดูแลโดยวิธี Regulatory Sandbox ไว้ให้ชัดเจน


บรรณานุกรม

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645267

https://gmod.facepunch.com/

https://thaipublica.org/2016/09/bot-regulatory-sandbox/

https://www.rockstargames.com/grandtheftauto/


รวบรวมและเรียบเรียงโดย เชาวน์เนตร บุญไชย

สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช.


[1] a non-player controlled character