บริบทของวิทยุสมัครเล่นไทย

  • 27 มกราคม 2564
  • 3045

บริบทของวิทยุสมัครเล่นไทย

วิทยุสมัครเล่น (Amateur Radio : AR)  เป็นการใช้ความถี่วิทยุที่เป็นกิจการสากลที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงเยาวชนมีโอกาสได้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการศึกษาค้นคว้าทางเทคนิค โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจการค้า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้ อาทิ การใช้ให้เป็นเครื่องมือทางการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ การเป็นเครือข่ายสื่อสารสำรองในภาวะฉุกเฉินและอาสาสมัครเฝ้าระวังในภาวะปกติ ส่งเสริมวัฒนธรรมจิตอาสา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างถิ่น สำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทย ผู้อ่านหลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจในบริบทที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกิจการนี้ในเมืองไทยพอสังเขป ซึ่งอาจจะนำไปเป็นข้อมูลเพื่อศึกษาต่อยอดสำหรับการกำหนดแนวทางในการพัฒนาและการกำกับดูแล

กิจการวิทยุสมัครเล่นของไทยมีจุดกำเนิดมาจากการส่งวิทยุกระจายเสียง ในปี พ.ศ. 2470 โดยพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (บุรฉัตรไชยากร) ซึ่งเป็นการค้นคว้าส่วนพระองค์ในการส่งวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้น ให้ชื่อว่าสถานี "HS1PJ" และในขณะนั้นในต่างประเทศได้มีการทดลองใช้วิทยุคลื่นสั้นติดต่อข้ามทวีปกันมาก กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข จึงทดลองสร้างเครื่องส่งวิทยุโทรเลขความถี่สูงและทำการทดลองติดต่อกับสถานีวิทยุสมัครเล่นในต่างประเทศ โดยใช้สัญญาณเรียกขาน HS1HH (ผู้ทดสอบสัญญาณ คือ อาจารย์เสงี่ยม  เผ่าทองศุข อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข) ทางฝ่ายทหารเรือ คือ กองสัญญาณทหารเรือ (ปัจจุบันคือกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ) ก็ได้ตั้งสถานีวิทยุสมัครเล่นติดต่อกับต่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยใช้สัญญาณเรียกขาน HS1BK (ผู้ทดสอบสัญญาณ คือ พลเรือเอก สงบ จรูญพร) ช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นยุคเริ่มต้นของกิจการวิทยุสมัครเล่นไทย ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ต่อด้วยสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในรูปแบบของการช่วยเหลือทางทหารตั้งสถานีทดลองอิเล็กทรอนิกส์พร้อมเครื่องมือเครื่องวัดทันสมัยที่ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ทำการทดสอบการแพร่กระจายคลื่นวิทยุ ทดสอบการสื่อสารผ่านดาวเทียมทางทหารและอื่น ๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยทั้งทหารและพลเรือน จนสงครามยุติลงประเทศไทยได้มีการริเริ่มรวมกลุ่มผู้สนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่นรวมตัวกันโดยมีทหารอเมริกันเป็นผู้นำในช่วงแรกและต่อมาได้ร่วมกับคนไทยจึงมีการก่อตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2507 (ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระมหากรุณาให้สมาคมฯ อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2537) สมาคมฯ ได้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพวิทยุสมัครเล่นระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกสหภาพวิทยุสมัครเล่นระหว่างประเทศภูมิภาคที่ 3 เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมวิทยุสมัครเล่นนานาชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งได้มีความพยายามขออนุญาตมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่นให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากหน่วยงานทางด้านความมั่นคงยังไม่มั่นใจว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นจะได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้และการควบคุมจะทำได้เพียงใด อย่างไรก็ตามก็ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้นำเครื่องวิทยุคมนาคมในย่านความถี่วิทยุสมัครเล่นเข้ามาทดลองใช้ติดต่อสื่อสารกัน    ในกลุ่ม และได้มีการขออนุญาตจัดกิจกรรมร่วมในการแข่งขันการติดต่อทางไกลด้วยความถี่วิทยุสมัครเล่นเป็นครั้งคราวกับนักวิทยุสมัครเล่นประเทศต่าง ๆ แต่ละครั้งจะต้องให้เจ้าหน้าที่ของกรมไปรษณีย์โทรเลขมาเฝ้าสังเกตการณ์พร้อมทั้งบันทึกข้อความที่ติดต่อกันเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั่วไปได้ใช้ความถี่วิทยุในกิจการวิทยุสมัครเล่นแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2524 กรมไปรษณีย์โทรเลข (พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้น) ได้จัดทำโครงการนำร่องเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้วิทยุที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการวิทยุสมัครเล่นอีกทางหนึ่งภายใต้โครงการทดลองให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นในรูปของ นักวิทยุอาสาสมัคร หรือ VR (ย่อมาจาก VOLUNTARY RADIO) และได้จัดตั้งเป็นชมรมนักวิทยุอาสาสมัคร ผู้ที่จะเป็นสมาชิกเมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วกรมไปรษณีย์โทรเลขจะออกใบอนุญาตวิทยุคมนาคมและอนุญาตให้เป็นนักวิทยุอาสาสมัคร (VR) โดยการกำหนดสัญญาณเรียกขาน (Callsign) จะขึ้นต้นด้วย VR และตามด้วยตัวเลขจาก VR001 ไปตามลำดับก่อนหลัง กรมไปรษณีย์โทรเลขได้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมข่ายมีสัญญาณเรียกขานว่า "ศูนย์สายลม" ขึ้นที่บริเวณภายในกรมฯ โดยจะปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการ ในกรณีที่นักวิทยุอาสาสมัครพบเห็นผู้กระทำความผิดก็จะแจ้งข่าวสารผ่านศูนย์สายลมเพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อไป จนกระทั่งกรมไปรษณีย์โทรเลขได้อนุญาตให้มีกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยได้ ซึ่งออกเป็น “ระเบียบของคณะกรรมการประสานงานการจัดและบริหารความถี่วิทยุแห่งชาติว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2530” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 ทำให้ต้องมีการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้เป็นตามสากล (VR001 เป็น HS1BA และ VR คนสุดท้ายคือ VR2953) ดังนั้น นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนจะต้องมีสัญญาณเรียกขาน ที่ขึ้นต้นด้วย HS ซึ่งหมายถึงประเทศไทย และเพื่อความรอบคอบในกรณีที่สัญญาณเรียกขานที่ขึ้นต้นด้วย HS จัดให้หมดแล้วกรมไปรษณีย์โทรเลขได้ขอให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดอักษรสำหรับ Callsign ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นใหม่ ITU ได้กำหนดให้ใช้ E2 ซึ่งจะใช้ต่อจาก HS

เมื่อภารกิจจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเปลี่ยนผ่านมาสู่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น ชื่อว่า “ระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2550 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎระเบียบฉบับที่ 2 เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่นไทย จนส่งต่อภารกิจมาถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กิจการวิทยุสมัครเล่นไทยการกำกับดูแลในระยะแรกยังคงเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ กสทช. ได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนและพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นให้เทียบเท่าสากล จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นและความถี่ภาคประชาชนขึ้นเพื่อจัดทำแผนงานเกี่ยวกับการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น รวมถึงการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะในการกำกับและพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ กสทช. ออกกฎระเบียบฉบับใหม่ ชื่อว่า “ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 และ“ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ฉบับที่ 2” มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2560

จากจุดเริ่มต้นของกิจการวิทยุสมัครเล่นไทยจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. ในอดีตการใช้ความถี่วิทยุในกิจการวิทยุสมัครเล่นจะขีดวงจำกัดเฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้น เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงและความไม่มั่นใจในประโยชน์จากการใช้งานความถี่วิทยุของภาคประชาชน และเริ่มมีการผ่อนคลายให้ประชาชนใช้ความถี่ได้ต่อมาในภายหลังที่สอดคล้องกับสากลมากยิ่งขึ้น

2. จุดเริ่มต้นของภาคประชาชนในการใช้ความถี่วิทยุเริ่มจากความสนใจเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารถึงกันของกลุ่มบุคคลที่ได้องค์ความรู้จากทหารอเมริกันที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจในช่วงสงคราม     ซึ่งในช่วงนั้นไม่มีเทคโนโลยีมากมายนักนอกจากวิทยุสื่อสาร

3. การยอมรับของหน่วยงานของรัฐในการใช้ความถี่วิทยุของภาคประชาชนเกิดจากการ  ใช้งานความถี่วิทยุเพื่อร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจแจ้งข่าวและเป็นอาสาสมัครให้กับหน่วยงานของรัฐ    แต่นำหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของกิจการวิทยุสมัครเล่นที่เป็นรูปแบบสากลมาใช้เพียงส่วนน้อย

4. จากข้อสังเกตในข้อ 2. และ 3. จะพบว่า กลุ่มประชาชนที่สนใจในการใช้ความถี่วิทยุแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มบุคคลที่สนใจในเรื่องวิชาการ การค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร และ 2) กลุ่มที่นำความถี่วิทยุไปใช้ประโยชน์ในการประสานงานเพื่อช่วยเหลือภารกิจของหน่วยงานของรัฐในรูปแบบของอาสาสมัคร ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ที่สนใจในกิจการวิทยุสมัครเล่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะอยู่ในกลุ่มที่มุ่งเน้นการนำไปใช้งานเสียเป็นส่วนใหญ่จนหลายครั้งทำให้บางท่านอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปว่าบุคคลที่ใช้ความถี่วิทยุในกิจการวิทยุสมัครเล่นคือกลุ่มที่เป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือสังคมหรือพูดง่าย ๆ คือ ใครที่จะพกวิทยุสื่อสารต้องมาเป็นนักวิทยุสมัครเล่นนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อสภาพสังคมในกิจการวิทยุสมัครเล่นของไทยเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางการกำกับดูแลส่วนหนึ่งจะต้องสร้างความสมดุลของกลุ่มบุคคลทั้ง 2 กลุ่ม โดยการนำเสนอองค์ความรู้ทั้งสองมิติให้กลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่มได้เข้าถึง เข้าใจ และสร้างโอกาสให้ทั้ง 2 กลุ่มได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่แต่ละคนถนัด อาทิ การที่ให้บุคคลที่สนใจเรื่องวิชาการได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับการนำความถี่วิทยุไปใช้งานสำหรับการประสานงานเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐในฐานะพนักงานวิทยุสื่อสารทั้งในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ ในทางกลับกันก็ต้องให้กลุ่มที่มุ่งเน้นการนำไปใช้งานเพียงอย่างเดียวได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับวิชาการด้านการสื่อสาร ลักษณะการติดต่อสื่อสารในโหมดต่าง ๆ เพื่อที่จะได้มีองค์ความรู้ มีศักยภาพเพิ่มขึ้นที่จะสามารถประยุกต์ใช้งานได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและใช้ความถี่วิทยุได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่นให้กับกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาได้ศึกษา ทดลอง ค้นคว้าด้านการสื่อสารด้วยความถี่วิทยุ เพราะกิจการวิทยุสมัครเล่นมีความถี่วิทยุมากมายให้ได้ใช้งานที่สามารถติดต่อสื่อสารไปได้เป็นระยะทางที่ไกลตามคุณลักษณะของแต่ละย่านความถี่ ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับห้องทดลองขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการสร้างและพัฒนาบุคลากรในด้านโทรคมนาคม และต่อยอดนำไปสู่สังคมผู้ผลิตที่จากเดิมประเทศไทยมีสถานะเป็นผู้ใช้งานอุปกรณ์สื่อสารเพียงอย่างเดียว สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเรียนว่าข้อวิเคราะห์และข้อเสนอแนะนั้นเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนที่มองในมุมของความเป็นมาและบริบทของวิทยุสมัครเล่นไทยที่พอจะสืบค้นข้อมูลและร่วมสนทนากับบุคลที่เคยอยู่ในแต่ละเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านหลายท่านอาจจะมองเห็นและเข้าใจกิจการวิทยุสมัครเล่นในบริบทของประเทศไทยได้พอสมควร แล้วคุณล่ะสนใจกิจการวิทยุสมัครเล่นไหม กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยเพื่อนและมิตรภาพมีองค์ความรู้อีกหลากหลายที่อยู่ในสังคมนี้ดังคำของนักวิทยุสมัครเล่นที่ว่า “ตราบใดที่สัญญาณไปถึง..คุณคือเพื่อน” ลองเข้าไปสัมผัสดูแล้วคุณจะรู้ว่า “วิทยุสมัครเล่นมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด


***********************

“HS1PJ” อ่านออกเสียงว่า “โฮเทล-เซียร่า-วัน-ปาป้า-จูเลียต”

“HS1HH” อ่านออกเสียงว่า “โฮเทล-เซียร่า-วัน-โฮเทล-โฮเทล”

“HS1BK” อ่านออกเสียงว่า “โฮเทล-เซียร่า-วัน-บราโว่-กิโล”


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

  1. หนังสือที่ระลึก 100 ปี กรมไปรษณีย์โทรเลข
  2. หนังสือที่ระลึกฉลองครบรอบ 40 ปี สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  3. นิตยสาร 100 วัตต์
  4. สมาคมนักวิทยุอาสาสมัคร
  5. คณะอนุกรรมการพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่นและความถี่ภาคประชาชน


เรียบเรียงโดยนายธีระศักดิ์  เชยชื่น สำนัก บท. สำนักงาน กสทช.