ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

  • 10 กุมภาพันธ์ 2564
  • 4016

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือ สมองกล (Machine Intelligence: MI) หมายถึง ระบบสติปัญญาที่เกิดจากเครื่องจักรกล ซึ่งแตกต่างกับปัญญาตามธรรมชาติ (Natural Intelligence: NI) ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์หรือสัตว์ นิยามของ AI ตามวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์หมายถึงสิ่งที่แทนสติปัญญา อุปกรณ์ใดๆ ที่สามารถรับรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวและสามารถประมวลผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใดๆ ในปี 2017 AI ประสบความสำเร็จในหลายๆด้าน เช่นความสามารถในการเข้าใจคำพูดของมนุษย์ ความสามารถในการแข่งขันเกมที่ต้องมีการวางกลยุทธในการเล่น เช่นหมากรุก หรือ หมากล้อม รถยนต์ไร้คนขับ ระบบกำหนดเส้นทางในการจัดส่งเนื้อหาในโครงข่ายโทรคมนาคม ระบบจำลองการรบทางทหาร ระบบแปลความหมายข้อมูล ภาพ หรือ วีดีโอ ที่มีความซับซ้อน

เมื่อพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ หลายคนอาจนึกถึงหุ่นยนต์อัจฉริยะที่เพิ่งได้รับสัญชาติจากประเทศซาอุดิอารเบีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ หุ่นยนต์โซเฟีย ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย David Hanson วัตถุประสงค์ในการสร้างหุ่นยนต์โซเฟียขึ้นมาก็เพื่อใช้ช่วยเหลือและเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุ หุ่นยนต์โซเฟียสามารถพูดจาโต้ตอบกับมนุษย์ ถึงแม้หุ่นยนต์โซเฟียจะสามารถพูดจาโต้ตอบกับมนุษย์ได้ราวกับเป็นมนุษย์คนหนึ่งแต่แท้จริงแล้วระบการคิด ระบบสั่งการ และระบบประมวลผล ก็ถูกสร้างมาจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง

ระบบปัญญาประดิษฐ์ของหุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นมาจากการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยโปรแกรมหลักที่นิยมนำมาใช้ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ประกอบด้วย Python, Java, Lisp, Prolog และ C++ แต่ละโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน อาทิ C++ จัดเป็นโปรแกรมภาษาที่มีความเร็วในการประมวลผลสูงที่สุดในโลก ด้วยข้อดีทางด้านความเร็ว C++ จึงถูกนำมาใช้กับโครงการ AI ที่ต้องการความเร็วในการประมวลผลสูง (Time-sensitive Project) นอกจากนี้ยังสามารถนำโปรแกรม C++ มาใช้เก็บข้อมูลทางสถิติในระบบปัญญาประดิษฐ์

เมื่อเทียบปัญญาประดิษฐ์กับกลไกการทำงานของสมองมนุษย์นับว่ายังห่างชั้นกันมากสมองมนุษย์มีระบบการทำงานที่มีความซับซ้อนโดยแบ่งได้เป็น สมองชั้นนอก กลีบหน้าผาก กลีบหน้าผากส่วนหน้า กลีบกระหม่อม กลีบท้ายทอย กลีบขมับ โดยแต่ละส่วนจะมีหน้าที่แตกต่างกัน

สมองชั้นนอกจะทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขั้นสูง เช่น การรับรสสัมผัส สะท้อนภาพความคิด การตระหนักรู้และความเข้าใจภาษา

สมองกลีบหน้าผาก ทำหน้าที่ควบคุมความคิดเชิงตรรกะ การวิเคราะห์และแก้ปัญหา ความเข้าใจนามธรรม การตีความทางคณิตศาสตร์ การให้เหตุผล ความเข้าใจเรื่องประโยคภาษาและไวยกรณ์

สมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า จะทำหน้าที่ควบคุมแรงกระตุ้น การปรับตัวกับสถานการณ์ทางสังคม ความคล่องแคล่วการคิดหาเหตุผล 

สมองกลีบขมับทำหน้าที่ควบคุมการทำงานที่ตอบสนองกับโสตประสาท การแยกแยะความต่างของเสียงท่วงทำนอง จังหวะความดัง และวิเคราะห์ความสำคัญของเสียง การควบคุมความจำระยะสั้น

สมองกลีบท้ายทอยทำหน้าที่ควบคุมการทำงานที่ตอบสนองต่อการรับรู้ภาพ และการมองเห็น ได้แก่ การรับรู้ลักษณะ สี ความใกล้ไกล คำพูดตัวอักษร อักขระ สัญลักษณ์

จากกลไกการทำงานของสมองจะเห็นได้ว่าสมองมีการทำงานที่ซับซ้อนการจะพัฒนา AI ให้เทียบเท่าการทำงานของสมองย่อมไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้โดยง่าย แล้วถ้าเราจะลองทำดูละเราควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี อันดับแรกเราต้องแยกระบบการทำงานของสมองของ AI เป็นส่วนๆ แต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานที่แตกต่างกัน จากนั้นเราจะเขียนโปรแกรมให้แต่ละส่วนของ AI ทำหน้าที่ของมัน นั่นคือโปรแกรมจะถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งที่จะส่งผ่านเข้ามา ตัวอย่างเช่น ถ้าเราจำลองสมองของ AI ให้ทำหน้าที่เหมือนสมองชั้นนอกเช่นการตระหนักรู้และความเข้าใจภาษาสิ่งแรกที่เราต้องทำคือเขียนโปรแกรมให้ AI จดจำคำศัพท์ในภาษาที่เราต้องการ จากนั้นเขียนโปรแกรมให้ AI สามารถตอบคำถามได้ อย่างเช่นถ้าเราต้องการถาม AI ว่าวันนี้อากาศดีไหม คำตอบของ AI อาจตอบว่าอากาศดี หรือไม่ดี ถ้า AI จะตอบว่าอากาศดีต้องมีการประมวลผลของสภาพอากาศในวันนั้นในพื้นที่ที่ AI ประจำอยู่เช่นถ้า AI จะตอบว่าอากาศดีตัวประมวลผลของ AI จะต้องมีค่าดังนี้ อุณหภูมิประมาณ 25-30 องศา ท้องฟ้าแจ่มใส ความเร็วลม ประมาณ 7-10 กม./ชม. ถ้าค่าการประมวลผลตรงกันข้ามกับค่านี้ AI ก็จะตอบว่าอากาศไม่ดี

ถึงแม้ AI จะถูกพัฒนาให้มีความสามารถในหลายๆด้านแต่ก็มีข้อจำกัดที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำได้นั่นก็คือการออกแบบ AI ให้สามารถมองเห็นได้คล้ายการทำงานของดวงตามนุษย์การทำงานของดวงตาหรือการมองเห็นมีความซับซ้อนเกินกว่าที่ระบบการเขียนโปรแกรมจะทำได้ สิ่งที่ระบบAI ทำได้ในตอนนี้ก็คือการจำลองการมองเห็น ตัวอย่างที่พบคือการเคลื่อนไหวได้ทุกทิศทางของหุ่นยนต์อาซิโม อาซิโมมีระบบช่วยให้สามารถเดินบนพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบเช่นพื้นผิวเอียง AI ใช้ข้อมูลของระบบการมองเห็น ในการประมาณค่าความเอียงของพื้นผิว เพื่อใช้ในการปรับท่าทางการเดิน และการทรงตัวของหุ่นให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นผิว 

ในอนาคตการจะประยุกต์ AI ให้สามารถพัฒนาการมองเห็นได้ใกล้เคียงกับตามนุษย์อาจต้องมีการประยุกต์ระบบการจับภาพด้วยคลื่นอินฟาเรดเข้ากับระบบการประมวลผลของAI เพื่อช่วยจับความร้อนของสิ่งที่สามารถมองเห็นหรือระบุตำแหน่งพิกัดของสิ่งที่มองเห็นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการมองเห็นแบบสมบูรณ์แบบในไม่ช้า


ดัดแปลงมาจากบทความโดยนายเชาวน์เนตร บุญไชย สำนักงาน กสทช.