หลักการการประยุกต์ใช้ทฤษฎีระบบความคิด และทฤษฎีการคิดเชิงสร้างสรรค์ในงานวิเคราะห์

  • 26 มกราคม 2564
  • 6968

หลักการการประยุกต์ใช้ทฤษฎีระบบความคิด และทฤษฎีการคิดเชิงสร้างสรรค์ในงานวิเคราะห์

ภารกิจหนึ่งของสำนักงาน กสทช. คือ การศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางเลือกและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการกำหนดและพัฒนานโยบายเพื่อกำกับดูแล นอกจากจะต้องศึกษาหาข้อมูลแล้ว ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์คือ 1) การคิดเชิงวิพากษ์ และ 2) การคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยในทางปฏิบัตินั้น 2 ทักษะนี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การทำงาน และทักษะส่วนบุคคล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเสริมสร้างและฝึกฝนจึงจะมีทักษะการคิดทั้ง 2 ระบบที่มีประสิทธิภาพ 

อนึ่ง หลักทฤษฎีการคิดเชิงวิพากษ์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่ได้นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานเชิงวิเคราะห์มาจากหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ 1) Thinking, Fast and Slow โดย Daniel Kahneman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และ 2) Art of Thought โดย Graham Wallas นักศึกษาศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง London School of Economics and Political Sciences โดยบทความนี้จะเริ่มจากการอธิบายทฤษฎีดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจ เหตุผลของทฤษฎี รวมทั้งการประยุกต์ใช้ทฤษฎีนั้นๆ กับการทำงานเชิงวิเคราะห์ด้านวิชาการ


Thinking, Fast and Slow: System 1 และ System 2

การคิดเชิงวิพากษ์ คือ การคิดที่ใช้หลักฐานและเหตุผลที่มีทั้งหมด การตั้งข้อสงสัย รวมทั้งการใช้ความเป็นกลางมาทดสอบสมมติฐานของความคิดนั้น โดยยังไม่เชื่อหรือตัดสินใจในทันที เพื่อให้สามารถคิดวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบเพื่อช่วยในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทุกคนไม่ได้มีประสบการณ์ ความรู้หลักฐาน เหตุผล การตั้งคำถาม หรือมีความเป็นกลางเท่าเทียมกัน จึงทำให้ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ของแต่ละคนมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวคือ การนำมุมมอง ความรู้สึก ความคิด ความรู้ หลักการและประสบการณ์ต่างๆ เท่าที่แต่ละบุคคลมีมาใช้แยกแยะว่าสิ่งใดเหมาะสมที่สุดสำหรับนำมาใช้ในการคิดเชิงวิพากษ์

ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายถึงระบบความคิดของมนุษย์ กล่าวถึงวิธีการที่สมองของมนุษย์สร้างความคิดต่างๆ โดยแยกวิธีการออกเป็น 2 ระบบความคิด System 1 และ System 2 

System 1 กล่าวคือ การคิดเร็ว ซึ่งรวมไปถึง สัญชาตญาณ ความเคยชิน ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติต่อเรื่องบางเรื่อง ความรู้สึก การคิดแบบขาดสติ การคิดแบบอัตโนมัติและบ่อยครั้ง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น การแยกแยะสีของสิ่งของ หาทิศทางของเสียงที่ได้ยิน คิดเลขแบบง่ายๆ ความเชื่อว่าคนในอาชีพใดอาชีพหนึ่งต้องมีลักษณะบางอย่าง หรือการเชื่อหลักการบางเรื่องอย่างไม่มีข้อสงสัยเพราะเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาหรือประสบอยู่เป็นประจำ แต่ในความเป็นจริงหลักการนั้นอาจไม่เป็นจริงเสมอไป เป็นต้น

System 2 คือ การคิดช้า ซึ่งรวมไปถึง การคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่เคยชิน การใช้ตรรกะ การคิดแบบมีสติ ทำอะไรที่ต้องใช้ความพยายามทางความคิดสูง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เดินหลบเศษแก้วใสที่อยู่บนพื้นสีขาว การตั้งสติก่อนทำอะไรสักอย่าง การนึกถึงเสียงหรือรายละเอียดบางอย่างจากความทรงจำ การคิดคำนวณเลขแบบยากๆ หรือการใช้ตรรกะเพื่อแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน เป็นต้น

การที่มนุษย์มักนำระบบความคิด System 1 และ System 2 มาผสมกันเพื่อตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาจได้รับคำตอบที่นำไปสู่ความเอนเอียง (Cognitive Bias) และส่งผลต่อการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้องตามมา ดังนั้น หากสามารถแยกแยะให้ออกว่ากำลังใช้ System 1 หรือ System 2 อยู่ในการคิดเรื่องใดๆ จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ และหาคำตอบที่ถูกต้องได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาประยุกต์ใช้กับการคิดเชิงวิพากษ์


Art of Thought: 5 Stages of Creativity (5 ขั้นตอนของการคิดสร้างสรรค์)

การคิดสร้างสรรค์ คือการคิดสิ่งใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ และคุณค่า ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สิ่งประดิษฐ์ หรือศิลปะ หรือจับต้องไม่ได้ เช่น บทกวี เพลง นิยาย ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ในเชิงวิชาการยังไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์การสร้างสรรค์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จึงยังมีการทำวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในสาขาด้านประสาทวิทยา แต่หลักการโดยทั่วไปคือ การคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดจากการสั่งสมและผสมผสานของประสบการณ์ ความรู้ ข้อมูล และความรู้สึกในระดับจิตใต้สำนึก/จิตไร้สำนึก (Subconscious/unconscious mind) ของมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ออกมา โดยขั้นตอนในการคิดสร้างสรรค์นี้ ถูกอธิบายไว้ในหนังสือ Art of Thought ด้วย 5 ขั้นตอนของการคิดสร้างสรรค์ ดังนี้ 

  1. การเตรียมพร้อม (Preparation): การสั่งสมและศึกษาข้อมูลหรือปัญหา 
  2. การบ่มเพาะ (Incubation): การผสมผสานข้อมูล หรือปัญหาเข้ากับข้อมูล และประสบการณ์ต่างๆ ของผู้คิดในระดับจิตใต้สำนึก/จิตไร้สำนึก ซึ่งผู้คิดอาจไม่รู้ตัวว่าขั้นตอนนี้กำลังบังเกิดอยู่ 
  3. การเริ่มตระหนักรู้ (Intimation): เป็นส่วนหนึ่งของ Incubation แต่ผู้คิดจะเริ่มตระหนักรู้การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ๆ แต่ยังไม่ชัดเจน
  4. การเห็นแจ้ง (Illumination): การเกิดของความคิดสร้างสรรค์ โดยผู้คิดสามารถเห็นได้ชัดเจนในสภาวะมีสติ 
  5. การตรวจสอบ (Verification): การตรวจสอบ ทดลองใช้ พัฒนา และต่อยอดความคิดใหม่


การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในงานวิเคราะห์ 

การประยุกต์ใช้หลักการทฤษฎี System 1 และ System 2 (ทฤษฎีระบบความคิด) และ 5 Stages of Creativity (ทฤษฎีการคิดเชิงสร้างสรรค์) สามารถอธิบายได้อย่างเป็นขั้นตอนที่เข้าใจได้ง่าย พร้อมตัวอย่างการประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์ทางวิชาการในการใช้ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์และการคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ดังนี้

1) การเตรียมพร้อม + System 2: ในขั้นตอนที่ 1 ช่วงช่วงค้นคว้าและศึกษาข้อมูล ปัญหาหลักที่มักเกิดขึ้นคือ 1) ผู้ทำงานวิเคราะห์ส่วนใหญ่มักจะค้นคว้าและศึกษาข้อมูลไปพร้อมๆ กับการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เนื่องจากอาจส่งผลให้งานวิเคราะห์มีความเอนเอียงไปสู่ข้อมูลที่ได้รับความสนใจก่อน โดยไม่ได้ใช้ข้อมูลทั้งหมด นอกจากนี้ ในกรณีที่ค้นพบข้อมูลใหม่ที่สามารถหักล้างข้อมูลเดิมที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ไปแล้ว ทำให้อาจต้องเสียเวลาในการแก้ไขการวิเคราะห์ดังกล่าว และ 2) หากผู้ทำงานวิเคราะห์ไม่มีหรือไม่ทราบหลักการคิดเชิงวิพากษ์ที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเลือกค้นคว้าและศึกษาข้อมูลที่สอดคล้องกับอคติของตน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในขั้นตอนนี้ ผู้ทำงานวิเคราะห์ควรค้นคว้าและศึกษาข้อมูลเพียงอย่างเดียว โดยให้พยายามสังเกตว่าตนกำลังใช้ System 1 หรือ System 2 อยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตเห็นว่าใช้ System 1 อยู่ให้เปลี่ยนเป็น System 2 เพื่อใช้การคิดเชิงวิพากษ์ในการรักษาความเป็นกลาง และความครบถ้วนของข้อมูลให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น นท. ได้รับมอบหมายให้คำนวณค่าธรรมเนียมสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (ค่าธรรมเนียมฯ) จึงเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าและศึกษา ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมในประเทศต่างๆ โดยในแต่ละประเทศก็มีหลักการ และเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป หาก นท. ใช้ System 1 ในการค้นคว้าอาจทำให้การเลือกข้อมูลมีอคติกับวิธีการกำกับดูแลที่ไม่ได้ใช้หลักการกำกับดูแลแบบประเทศไทย ดังนั้น จึงใช้ System 2 ซึ่งทำให้สามารถค้นคว้า/ศึกษา ข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน

2) การบ่มเพาะ และ 3) การเริ่มตระหนักรู้ : ขั้นตอนที่ 2 และ 3 นี้เป็นขั้นตอนที่แม้กระทั่งผู้ที่มีความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์อาจมองข้าม ผู้ทำงานวิเคราะห์มักจะเริ่มทำการวิเคราะห์ทันทีภายหลังจากการค้นคว้าและศึกษาข้อมูลเสร็จสิ้น จึงส่งผลให้เกิดปัญหาของวิสัยทัศน์อุโมงค์ (Tunnel Vision) กล่าวคือ เนื่องจากระบบสมองจำเป็นต้องใช้เวลาในการจัดการข้อมูลที่ได้รับมาจำนวนมาก การเริ่มวิเคราะห์ทันทีจะทำให้ผู้ทำงานวิเคราะห์เห็นเพียงข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายและมองไม่เห็นภาพรวม รวมทั้งยังไม่เห็นการผสมผสานของข้อมูลซึ่งส่งผลให้เกิดการตระหนักรู้ในสิ่งใหม่ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ผู้ทำงานวิเคราะห์ควรพัก หรือไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานวิเคราะห์ที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยระยะเวลานั้นแล้วแต่สถานการณ์ ไม่มีกฎตายตัว อย่างไรก็ดี ไม่ควรเว้นระยะเพื่อบ่มเพาะและตระหนักรู้นานเกินไป เนื่องจากอาจส่งผลให้หลงลืมข้อมูลได้

สองขั้นตอนนี้จะช่วยให้ข้อมูลตกตะกอนและเกิดผสมผสานในระบบสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น ในการคิดวิธีคำนวณค่าธรรมเนียม หลังจากการค้นคว้า/ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสร็จแล้ว นท. ก็เว้นระยะประมาณ 1 – 2 วัน มาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเขียนบทความฉบับนี้ เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดก่อน เป็นต้น

4) การเห็นแจ้ง: ขั้นตอนที่ 4 นี้จะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ภาษาพูดมักใช้คำว่า “ปิ๊งไอเดีย” นั่นเอง แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะใช้เวลาในขั้นตอนที่ 2 และ 3 ไม่เพียงพอ หรือเพียงแค่ไม่เกิดขึ้นเลย ก็ให้เริ่มขั้นตอนที่ 5 เลยเพราะอย่างน้อยสมองก็มีเวลาในจัดการและผสมผสานข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งดีกว่าการไม่ได้ลงมือวิเคราะห์เลย ตัวอย่างเช่น หลังจากเว้นระยะในขั้นที่ 2/3 ก็สามารถคิดสูตรคำนวณค่าธรรมเนียมฯ ได้

5) การตรวจสอบ + System 2: ในขั้นตอนนี้คือการทำงานวิเคราะห์ตามผลที่เกิดขึ้นในขั้นตอนที่ 4 โดยระหว่างทำงานวิเคราะห์ และตรวจสอบงานวิเคราะห์ที่แล้วเสร็จ ให้สังเกตตนเองว่าได้ใช้ System 2 อยู่หรือไม่เหมือนกับขั้นตอนที่ 1 ตัวอย่างเช่น นำผลการคำนวณค่าธรรมเนียมฯ มาพิจารณาสอบทานกับข้อมูลตัวเลขทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งเพื่อเกิดความถูกต้องอย่างไม่มีอคติ

ขั้นตอนเสริม กลับไปเริ่มที่ขั้นตอนที่ 2: หากเป็นไปได้ ให้กลับไปเริ่มทำขั้นตอนที่ 2 และ 3 ใหม่ เนื่องจากเป็นการพัฒนาผลการวิเคราะห์ที่ได้ด้วยการมาผสมผสานของข้อมูลอีกรอบหนึ่ง


บทสรุป:

การประยุกต์ใช้หลักการทฤษฎี System 1/System 2 และ 5 Stages of Creativity เพื่องานวิเคราะห์เป็นเพียงแนวทางนำเสนอทางหนึ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานวิเคราะห์ ซึ่งแน่นอนว่าอาจไม่เหมาะกับทุกคน แต่จากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนบทความนี้เห็นว่าแนวทางนี้เป็นปฏิบัติตามได้ง่าย เหมาะกับผู้ที่เริ่มทำงานวิเคราะห์หรือยังขาดความชำนาญในการคิดวิเคราะห์ แม้ในช่วงแรกๆ อาจรู้สึกยุ่งยากกับขั้นตอนและแนวคิด โดยเฉพาะการแยกแยะ System 1 และ System 2 แต่หากหมั่นฝึกฝนจนเป็นนิสัย จะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติมีการคิดวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นได้กับงานในทุกๆ งาน


อ้างอิง:

Kahneman, Daniel. ThinkingFast and Slow. New York: Farrar, Straus and Giroux, 2011.

Wallas, Graham. The Art of Thought. New York: Harcourt, Brace and Company, 1926.


บทความข้างต้นมาจากการคัดลอกเนื้อหาบางส่วนจากบทความตั้งต้นโดยนายอัครพล คงชนะกุล สำนักงาน กสทช.