การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การคิดบวก

  • 22 มกราคม 2564
  • 2848

การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การคิดบวก

บทนำ

ความสัมพันธ์เชิงพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษย์ที่หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินคำนี้ "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" หรือ เรียกอีกอย่างในภาษาอังกฤษว่า "Social Animal" จากบทความในงานวิจัยหลากหลายเนื้อหาพบว่า มนุษย์มีความจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ต้องมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์ในการดำรงชีวิต แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่ามนุษย์จะมีความต้องการสังคมตลอดเวลา ในบางครั้งมนุษย์อาจต้องการความเป็นส่วนตัว ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งจะสร้างความสมดุลแก่การดำรงชีวิต

ในการดำรงชีวิตในหนึ่งวันของมนุษย์ย่อมมีการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น หากจะพูดง่าย ๆ ให้เข้าใจ  นั้นก็คือ การสนทนา การสื่อสาร การทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่มนุษย์อย่างเราจะต้องคิดใคร่ครวญ หรือไตร่ตรองกับสิ่งปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว หากแต่เรื่องที่เข้ามานั้น จะมาในรูปแบบเชิงบวกหรือเชิงลบ การที่มนุษย์ได้รับการปฏิสัมพันธ์แล้วสมองสั่งการให้เราประมวลผลสิ่งที่เรารับรู้และถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึก มีความสุข สนุก ดีใจ นั้นก็หมายความว่า เราได้รับการปฏิสัมพันธ์เป็นบวก แต่กลับกันหากได้รับการปฏิสัมพันธ์แล้วสมองสั่งการให้เรารู้สึก โศกเศร้า เสียใจ เป็นทุกข์ ไม่มีความสุข นั่นหมายความว่า การปฏิสัมพันธ์นั้นเป็นลบ


สร้างความคิดเชิงบวกต่อการทำงานง่าย ๆ ภายใต้การอยู่ร่วมกัน

1. การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน การเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นส่วนสำคัญต่อการทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์ การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีจะส่งผลให้เพื่อนร่วมงาน กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก เสมือนเป็นขั้นต้นของการเปิดใจเข้าหากัน ทำให้อยากมีการสนทนากันมากยิ่งขึ้น นั่นเป็นการสร้างความประทับใจให้แก่เพื่อนร่วมงาน และเป็นการสร้างความแข็งแกร่งขั้นพื้นฐานในการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

2. การสร้างทัศนคติที่ดี และการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน สามารถเริ่มได้จากตนเองและส่งต่อไปยังผู้อื่นหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้ เช่น การอุปทานหมู่ หรือปรากฏการทางจิตสังคมอย่างหนึ่ง หากเราสร้างภาพลักษณ์ต่อทัศนคติที่ดีในการทำงานโดยเริ่มจากตนเอง และขยายไปยังคนกลุ่มเล็ก ๆ หรือผู้ใกล้ชิด โดยพยายามให้คล้อยตามไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเป็นประจำ จะทำให้บุคคลรอบข้างรู้สึกถึงการปรับทัศนคติไปโดยปริยาย และนั่นจะส่งผลต่อการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน อยากให้งานที่ตนเองรับผิดชอบนั้นประสบความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอ

3. การรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะในสังคมการทำงาน ย่อมเกิดการแข่งขัน การพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกับสังคมภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อการทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ผลสำเร็จจะต้องนำความรู้ของตนเอง มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และนั่นอาจกระทบต่อการสื่อสารที่ต้องเกิดขึ้นอย่างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม  การสร้างสรรค์ผลงาน หรือการทำงานสู่เป้าหมาย การรับฟังความคิดเห็น

ของบุคคลอื่นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มองตนเองเป็นที่ตั้ง เปิดโอกาสให้คนรอบข้างได้ออกความเห็น เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันอย่างสมบูรณ์

4. ลดความตึงเครียด คลายความกังวล สร้างเสียงหัวเราะ การทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นย่อมมีปัญหาให้เราต้องคิดและแก้ไขเสมอ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการสร้างสภาวะความตึงเครียดให้ตนเองและเพื่อนร่วมงานได้ ทั้งนี้ การสร้างเสียงหัวเราะหรือการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ให้ความตึงเครียดนั้นลดน้อยลงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการปรับเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน ให้ดูมีความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งต่อการคิดบวกหรือแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย  

5. การทำงานเป็นทีม อย่างที่กล่าวไปข้างต้นมนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่ในบางครั้งมนุษย์ก็ต้องการอยู่คนเดียว ทั้งสองสิ่งสามารถเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความเหมาะสมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าด้วยเช่นกัน การทำงานก็เช่นเดียวกัน การแก้ไขปัญญาด้วยตนเองอาจไม่ส่งผลดีเสมอไป หากมีเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกน้องช่วยออกความคิดเห็น ช่วยรับฟังและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อาจทำให้ปัญญาต่าง ๆ เหล่านั้นดูมีทางออกมากยิ่งขึ้น

6. สร้างความศรัทธาและความไว้วางใจ ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาเสมอไป ทั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างเพื่อนร่วมงานเช่นกัน การสร้างความเชื่อมั่นแก่บุคคลรอบข้างนั้นมีอิทธิผลต่อความคิดและการตัดสินใจ ความไว้วางใจและความสบายใจเมื่อต้องร่วมงานกัน

7. ผลงานส่วนรวม ไม่ใช่ผลงานส่วนตน หากการทำงานร่วมกันมุ่งสู่การบรรลุผลสำเร็จจะถือเป็นผลงานของคนใดคนหนึ่งนั้นไม่ควร หากได้รับคำติ และคำชม ควรให้ความสำคัญของแต่ละบุคคลเท่าเทียมกัน หรือลดหลั่นไปตามตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกทางจิตใจทำให้บุคคลที่ร่วมงานมีความรู้สึกว่าตนเองนั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและสังคมรอบข้าง


บทสรุป

องค์กรขนาดใหญ่อย่างสำนักงาน กสทช. มีหน่วยงานสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังการก้าวไปสู่ความสำเร็จหลากหลายหน่วยงาน แต่ที่ขาดไม่ได้เลย คือหน่วยพัสดุ ซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนให้องค์กรไปสู่เป้าหมายเช่นกัน แต่หลาย ๆ คนมองว่าการเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ หรือการเป็นกรรมการชุดใด ชุดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัสดุนั้น มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก บางครั้งอาจเคยได้ยิน “การเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ ก็เหมือนขาข้างหนึ่งอยู่ในคุกในตาราง” จึงทำให้หลายๆ คนมีความคิดเชิงลบเกี่ยวกับงานพัสดุว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ” เปรียบว่าได้ไม่คุ้มเสีย ทำไมจึงต้องมาเสี่ยงอีก ดังนั้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัสดุนั้น ต้องมีการปรับทัศนะคติ โดยการทำงาน สร้างความคิดเชิงบวกต่อการทำงานง่าย ๆ ภายใต้การอยู่ร่วมกัน ให้บุคลากรในหน่วยพัสดุหรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ว่าการทำงานหลายๆ อย่างย่อมมีความเสี่ยงในตัวเองอยู่แล้ว ต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส มองความเสี่ยงคือความท้าทาย เปลี่ยนมุมมองทางความคิด ยิ่งเสี่ยง ยิ่งยาก ยิ่งเป็นประสบการณ์ในการทำงานที่ดี จะทำให้เรารู้จักความรอบคอบ ใช้ไหวพริบปฏิภาณในแก้ไขปัญหาต่างจากประสบการณ์ผ่านมา ทั้งนี้การคิดเชิงบวกหรือการคิดเชิงลบนั้น ส่งผลกระทบในทิศทางตรงกันข้ามกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพจิต การทำงาน การเข้าสังคม การดำรงชีวิตการเป็นอยู่ ทุกอย่างถูกปรุงแต่งโดยผ่านกระบวนการความคิด วิเคราะห์ทางสมอง และประมวลผลส่งต่อระบบประสาทสั่งการให้ร่างกายของมนุษย์ปรับตัวตามกลไกธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ความคิดมีผลต่อจิตใจ จิตใต้สำนึกที่มนุษย์เราสามารถรับรู้ได้ 


เรียบเรียงโดยสำนัก พย. สำนักงาน กสทช.


อ้างอิง

“การคิดเชิงบวก : ตัวแปรในการพัฒนาชีวิต” (พิทักษ์ สุพรรโณภาพ) , 2561

ดวงกมล ปิ่นเฉลียว“การเสริมสร้างสุขภาพจิตด้วยชีวิตเชิงบวก” 

วารสารพยาบาลตำรวจ ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม ถึง ธันวาคม 2559 223-230

“การสร้างความสุขด้วยจิตวิทยาเชิงบวก” (เกสร มุ้ยจีน) , 2559