“Fact Checking” เครื่องมือใหม่ เพื่อการส่งเสริมจริยธรรมสื่อ

  • 22 มกราคม 2564
  • 1766

“Fact Checking” เครื่องมือใหม่ เพื่อการส่งเสริมจริยธรรมสื่อ

ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือ social media ได้รับความนิยมอย่างมาก และทุกคนสามารถส่งสารที่ตนเองต้องการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก การสื่อสารยุคใหม่เช่นนี้ทำให้เกิดภาวะข้อมูลที่ขาดการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของเนื้อหาจำนวนมากมายได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ในสื่อสังคมออนไลน์จึงเต็มไปด้วยข่าวเท็จ ข่าวลือ ข่าวลวง ซึ่งลักษณะของข่าวลวงนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ข่าวที่เกิดขึ้นลอยๆ หาที่มาที่ไปไม่ได้ ไปจนถึงการนำภาพข่าวเก่ามาฉายแล้วบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือถึงระดับที่เรียกว่า deepfake ที่มีการตัดต่อคลิปปลอมเพื่อลวงให้คนเข้าใจผิด โดยทางทฤษฎีนั้น ข่าวลวงนั้นมีทั้งประเภทข่าวที่ให้ข้อมูลผิดพลาดแบบไม่ได้ตั้งใจ เรียกว่า misinformation และประเภทข่าวที่ผู้เขียนจงใจปล่อยข่าวออกมาหลอกลวงคนอื่นแบบข่าวลวงโลก เรียกว่า disinformation ซึ่งบนโลกการสื่อสารยุคปัจจุบัน พบว่าข่าวลวงในระดับต่างๆ ถูกนำเสนออยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ของไทยด้วย จึงกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของข่าวลวงในเวลานี้ถือเป็นความท้าทายของการสื่อสารยุคปัจจุบัน

ปัญหาข่าวลวงถือเป็นภาระที่องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อในทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ไม่อาจละเลยได้ เพราะ ข่าวลวงจะทำให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรสื่อลดน้อยลง และยังส่งผลให้ข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อวิชาชีพสื่อมวลชนในระยะยาว เนื่องจาก “วิชาชีพสื่อ” เป็นวิชาชีพที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจของสาธารณชน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจึงต้องอาศัยกระบวนการตัดสินใจที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมวิชาชีพ

หากมองในด้านกฎหมาย พบว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๒๗ (๑๘) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๓๙ กำหนดให้กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสาร มวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม

ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของสำนักงาน กสทช. จึงทำได้เพียงการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพมีการรวมกลุ่มเพื่อให้มีการควบคุมและกำกับดูแลกันเอง ไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ โดยตรง

ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. โดยสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) ได้สนับสนุนให้องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อใช้กลไก “การกำกับดูแลตนเอง” และ “การกำกับดูแลกันเอง” เป็นเครื่องมือในการควบคุมและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ให้เป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ โดยคำ 2 คำนี้แม้จะฟังดูคล้ายกันแต่กลับมีความหมายต่างกัน กล่าวคือ 

  • “การกำกับดูแลตนเอง” หมายถึง การกำกับดูแลของผู้เล่นในอุตสาหกรรมในระดับปัจเจก หรือระดับผู้ให้บริการ 
  • “การกำกับดูแลกันเอง” หมายถึง กลุ่มผู้ประกอบการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของกันและกัน การเป็นสมาชิกต้องโดยสมัครใจ สมาชิกร่วมร่างกฎหรือมาตรฐาน สมาชิกมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการสอดส่องดูแลและบังคับใช้ให้มีการปฏิบัติตามแนวทางที่ออกร่วมกัน จึงถือเป็นการกำกับดูแลของผู้เล่นในอุตสาหกรรมในระดับกลุ่ม 

อย่างไรก็ดี กลไกเหล่านี้คงไม่เพียงพอที่จะใช้จัดการกับข่าวปลอมและข่าวลวงได้ องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อของไทยจึงควรหาแนวทางอื่นมาเสริมกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว 

วิธีการหนึ่งที่องค์กรสื่อในต่างประเทศใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับข่าวลวงที่เกิดขึ้น คือการตั้งหน่วยตรวจสอบความจริง หรือ Fact Checking ขึ้นมาในองค์กร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบว่าข่าวที่มีการนำเสนอตามสื่อแขนงต่างๆ มีข้อเท็จจริงเพียงใด เป็นข่าวที่เชื่อถือได้หรือไม่ และควรเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือไม่ ซึ่งองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อของไทยสามารถถอดบทเรียนการทำงานในต่างประเทศและนำมาปรับใช้เพื่อรับมือกับข่าวลวงที่มีอย่างล้นเหลือในประเทศไทย 

วิธีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาข่าวนั้น แนวปฏิบัติขององค์กรสื่อในต่างประเทศมีอยู่ 2 รูปแบบ กล่าวคือ 

  • การตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนทำการเผยแพร่  (Ante hoc fact-checking) กรณีนี้ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจเป็นบรรณาธิการข่าว หรือโปรดิวเซอร์รายการ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและขจัดเนื้อหาผิดๆ ออกไปก่อนที่จะมีการเผยแพร่ สู่สาธารณะ เป็นการดำเนินงารในลักษณะการตรวจสอบกันเองภายใน
  •  การตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังจากข้อมูลได้รับการเผยแพร่แล้ว (Post hoc fact-checking) ซึ่งการตรวจสอบลักษณะนี้ปกติแล้วจะต้องมีการเขียนรายงานความไม่ถูกต้องที่ตรวจพบ บางกรณีก็มีการเทียบเคียงข้อมูลกับองค์กรภายนอกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ เช่น FactCheck.org, PolitiFact, OpenSecrets.org, snopes.com, truthorfiction.com, Fact Checker by Washington Post เป็นต้น 

การตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ นั้น เริ่มขึ้นโดย Brooks Jackson ขณะที่เขาเป็นนักข่าวของ CNN และได้รับมอบหมายหน้าที่พิเศษในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวการเมืองช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเขาสร้างชื่อเสียงจากรายงานที่ตรวจสอบการโฆษณาและยุทธวิธีการใช้เงินของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ Kathleen Hall Jamieson ศูนย์นโยบายสาธารณะ Annenberg ของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้ชักชวนให้เขามาร่วมกันตั้ง FactCheck.org และเริ่มเปิดตัวต่อสาธารณะในปี 2546 โดย Brooks Jackson ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการจนถึงปี 2556 ในการทำงานนั้น FactCheck.org มีการจ้างนักข่าวทำงานเต็มเวลา เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ FactCheck.org ประสบความสำเร็จอย่างมากและได้รับรางวัล Webby Awards สาขาการเมืองติดต่อกันถึง 4 ครั้ง คือ ในปี 2551 2553 2554 และ 2555 

ความสำเร็จของ FactCheck.org ถือเป็นแรงบัลดาลใจทำให้หน่วยงานลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ไม่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่ยังมีให้เห็นในทวีปอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกา เช่น Africa Check ในแอฟริกาใต้ Pesa Check ในเคนยา Agência Lupa จากบราซิล Chequeado ในอาเจนติน่า Faktisk.no ในนอร์เวย์ FACTLY MEDIA & RESEARCH และ FactChecker.in ในอินเดีย Liputan 6 - Cek Fakta ในอินโดนีเซีย South Asia Check ในเนปาล VERA Files Fact Check ในฟิลิปปินส์ เป็นต้น 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหน่วยตรวจสอบความจริง หรือ Fact Checking เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้น สถาบัน Poynter ซึ่งเป็นสถาบันฝึกอบรมนักข่าวในสหรัฐฯ จึงได้ตั้งเครือข่ายตรวจสอบความจริงนานาชาติ (The International Fact-Checking Network) เมื่อปี 2558 โดยทำการรวบรวมหน่วยตรวจสอบความจริงจากทั่วโลกเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อทำการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และยังจัดทำหลักปฏิบัติพื้นฐาน (code of principles) ร่วมกัน โดยข้อมูลจาก สถาบัน Poynter ระบุว่า ปัจจุบันมีหน่วยตรวจสอบความจริงจากประเทศต่างๆ จำนวน 68 องค์กรที่ลงนามในการที่จะดำเนินการตามหลักปฏิบัติพื้นฐาน (code of principles) ร่วมกัน 

หากมีคนถามว่า ถ้าองค์กรสื่อหรือองค์กรวิชาชีพสื่อของไทยต้องการตั้งหน่วยตรวจสอบความจริงของข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ควรจะเริ่มต้นที่ไหน และมีกระบวนการทำงานอย่างไร บทความนี้ขอนำเสนอการถอดบทเรียนกระบวนการทำงานของ VERA Files Fact Check ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นของหน่วยตรวจสอบความจริง หรือ Fact Checking ในประเทศไทย 

ใครจะเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของ VERA Files Fact Check เมื่อปี 2559 นั้นเกิดขึ้นในชั้นเรียนของนักศึกษาสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ ซึ่งมี Yvonne T. Chua เป็นผู้สอน โดยนักศึกษาได้ทำโครงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคำแถลงการณ์ของนักการเมืองที่เข้าชิงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล หลังจากนั้นมีการนำข้อมูลที่ได้ไปโพสต์ใน Facebook และ twitter และมีการ retweet ในหมู่นักศึกษาจนกระทั่งเกิดเว็บไซต์ VERA Files Fact Check ขึ้นมา โดยขั้นตอนการทำงานของ VERA Files Fact Check มีดังนี้ 

1. ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อมอนิเตอร์ข้อมูลจากการแถลงข่าว การปราศรัย แถลงการณ์ การสัมภาษณ์ ฯลฯ ที่คิดว่าน่าจะนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 

2. มอบหมายให้ทีมงาน 1-2 คนทำการสำรวจและตรวจสอบข้อกล่าวอ้างหรือแถลงการณ์ที่น่าสงสัย โดยต้องทำการตรวจสอบจากแหล่งข้อมูลหลายๆ แห่ง เพื่อยืนยันว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง หรือมีข้อโต้แย้ง 

3. ผู้ที่ทำการตรวจสอบข้อมูลต้องเขียนสิ่งที่ค้นพบและนำมาแลกเปลี่ยนกับสมาชิกคนอื่นๆ ภายในทีม 

4. เมื่อรับฟังข้อมูลแล้ว ทีมงานที่เหลือจะต้องชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือ หรืออาจทำการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้ 

5. ทีมงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องเตรียมทำ infographics หรือวิดีโอ เพื่อใช้ในการนำเสนอข้อมูล

6. บรรณาธิการอาวุโส 3 คน ต้องสรุปว่าข้อมูลที่ทีมงานตรวจสอบมานั้นถูกต้องหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง จะต้องเซ็นชื่อกำกับก่อนมีการนำข้อมูลนั้นไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ 

ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact Checking) ข้อควรระวังคือ ข้อมูลที่นำมาตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวแจก แถลงการณ์ หรือการถอดเทปบทสัมภาษณ์ ต้องเป็นข้อมูลชั้นต้น กรณีที่ไม่สามารถหาข้อมูลชั้นต้นได้และต้องพึ่งข้อมูลจากข่าวที่เผยแพร่แล้ว จะต้องตรวจสอบความถูกต้องจากข่าวตามสื่อต่างๆ อย่างน้อย 3 แห่ง และเพื่อความโปร่งใสในการเสนอข้อมูล จะต้องใส่ที่มาของข้อมูล (sources) หรือลิงค์ของเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งข้อมูลไว้เพื่อให้ทำการตรวจสอบย้อนหลังได้ 

บทเรียนจากประเทศฟิลิปปินส์ข้างต้นพบว่า การเกิดขึ้นของหน่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยทีมงานขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากแต่องค์กรสื่อหรือองค์กรวิชาชีพสื่อของไทย สามารถใช้ทีมงานขนาดเล็กเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาข่าวได้ และสามารถทำการตรวจสอบได้ทั้งก่อนและหลังการเผยแพร่สู่สาธารณะ 

ในยุคที่การแพร่สะพัดของข่าวปลอม-ข่าวลวงมีให้เห็นอยู่ทุกวัน และปัญหาเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพสื่อยังถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ หากองค์กรสื่อหรือองค์กรวิชาชีพสื่อ มีการตั้งทีมงานเพื่อตรวจสอบเนื้อหาข่าวให้ถูกต้องและแม่นยำก่อนเผยแพร่ หรือสามารถรับรองได้ว่าข่าวที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ จริง เท็จ ลวง อย่างไร ก็จะทำให้ข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปได้รับความเชื่อถือจากประชาชน และเมื่อนั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อก็จะหายไปในที่สุด เนื่องด้วยปัญหาจริยธรรมสื่อไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ แต่สำนึกที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพต่างหากที่จะช่วยแก้ปัญหาจริยธรรมสื่อได้ในระยะยาว 


เรียบเรียงโดยสำนัก สส. สำนักงาน กสทช.


ข้อมูลอ้างอิง

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 

https://thaipublica.org/2019/01/varakorn-278/

https://en.wikipedia.org/wiki/FactCheck.org

https://en.wikipedia.org/wiki/Fact-checking#Organizations_and_individuals 

https://mediabiasfactcheck.com/2016/07/20/the-10-best-fact-checking-sites/

https://www.poynter.org/ifcn/

https://ifcncodeofprinciples.poynter.org/signatories

http://verafiles.org/specials

http://verafiles.org/articles/what-you-want-know-about-vera-files-fact-check